วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประวัติจิตรกรรมไทย


ประวัติจิตรกรรมไทย
ศิลปะทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ไม่พบหลักฐานที่เป็นงานจิตรกรรม แต่พบภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินเป็นรูปผู้ชาย นั่งพับเพียบชันเข่า เท้าแขน ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบน รอบ ตัวมีหม้อน้ำ หอยสังข์ เงิน ดาว ภาพลายสลักนี้เป็นแบบอย่างของศิลปะที่เรียกกันว่า ศิลปะทวาราวดี ซึ่งอาจจะ สลักขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ รูปสลักนี้แม้จะไม่มีความสำคัญทางศิลปะมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นภาพลายเส้นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่พบและยังเหลืออยู่
ภาพลายเส้นที่ถือว่าเป็นต้นเค้าของการเขียนภาพจิตรกรรมไทย คือ ภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินชนวนในอุโมงค์วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย ภาพสลักนี้อาจจะทำขึ้นตามแบบภาพวาดของอินเดีย ซึ่งภิกษุชาวลังกานำเข้ามายังกรุงสุโขทัย เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่พุทธศาสนา ภาพสลักลายเส้นบน แผ่นหินอุโมงค์ในวัดศรีชุม แม้จะเป็นเพียงภาพลายเส้นรูปคนตามเรื่องราวของพระพุทธชาดก
ภาพลายเส้นนี้อาจเป็นต้นเค้าของความบันดาลใจ ให้ช่างของสุโขทัยคิดลายเส้นที่เป็นต้นแบบของงานจิตรกรรมไทยก็ได้ จิตรกรรมฝาผนัง หรือ ภาพเขียนระบายสีที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ได้แก่ จิตรกรรมที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และจิตรกรรมในถ้ำศิลป์จังหวัดยะลา จิตรกรรมทั้งสองแห่งนี้ ประมาณว่าเขียนขึ้นในราวตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙
ภาพเขียนที่ฝาผนังของวัดเจดีย์เจ็ดแถว เป็นภาพเขียนสีเอกรงค์ (Monochrome) คือ การใช้สีสีเดียว แต่มีน้ำหนักอ่อนแก่ของสีหรือใช้สีในวรรณสีเดียวกันเข้าประกอบแต่จะดูเหมือนเป็นสีเดียวกัน ภาพเขียนนี้แสดงให้เห็นความก้าวหน้าของงานจิตรกรรมของสุโขทัย โดยการใช้เค้าโครง และการจัดภาพตามแบบอย่างของภาพลายเส้น แต่ได้ใช้พระพักตร์ของรูปในงานจิตรกรรม ในขณะที่รูปเทวดาและสาวก
งานจิตรกรรมของไทยเริ่มก่อรูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นแล้ว ส่วนภาพจิตรกรรมที่ถ้ำศิลป์ จังหวัดยะลานั้น ท่านศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้กล่าวว่า "เป็นของหลายสมัยและหลายแบบปนกันอยู่ภาพพระพุทธรูปที่มีรูปพระสาวกและภาพสตรี ๓ คน กำลังยืนอยู่นั้น ยังคงรักษาลักษณะของศิลปะศรีวิชัยไว้ ภาพเขียนเหล่านี้อาจจะวาดขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คล้ายกับว่าเป็นการฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นใหม่ ก่อนที่จะเดินทางต่อมายังกรุงสุโขทัย ดังนั้นภาพเขียนเหล่านี้จึงเป็นการแสดงออกครั้งสุดท้ายของสกุลช่างเขียนพื้นเมืองตามศิลปะแบบศรีวิชัยอย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวและจิตรกรรมไทยในถ้ำศิลป์
รูปแบบของจิตรกรรมไทย ได้อาศัยภาพสลักลายเส้นและแบบอย่างของประติมากรรมสุโขทัย จิตรกรรมในยุคเริ่มแรกนี้ยังไม่มีรูปแบบที่เป็นของไทยอย่างแท้จริง คงทำตามแบบตัวอย่างของศิลปะอินเดียอยู่มาก จนถึงกรุงศรีอยุธยาซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จิตรกรรมไทยจึงได้วิวัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ จนปรากฏลักษณะเฉพาะของจิตรกรรมไทยอย่างชัดเจน
จิตรกรรมไทย ยุคเริ่มต้นที่มีรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะ คือ จิตรกรรมบนผนังในองค์พระปรางวัดราชบูรณะ และจิตรกรรมที่วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ.๑๙๖๗-๑๙๗๐
จิตรกรรมบนผนังในองค์พระปรางค์ของวัดราชบูรณะเป็นภาพจิตรกรรมที่เขียนขึ้นด้วยวิธีปูนเปียก (Fresco) เขียนเป็นรูปเทวดา มีลักษณะเช่นเดียวกับลายสลักที่วัดศรีชุม สุโขทัยภาพเขียนในกรุของพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้มีส่วนแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของจิตรกรรมไทย คือ การจัดองค์ประกอบของภาพโดยละทิ้งแบบอย่างที่ใช้การจัดภาพเป็นพระพุทธรูปยืนเรียงกันเป็นแถวตามแนวขนาน มาเป็นการเขียนกลุ่มบุคคล รูปสัตว์ และลวดลายดอกไม้ มีการใช้ทองปิดลวดลายให้ภาพดูเด่นขึ้นคล้ายกับศิลปะจีนหรือเปอร์เซีย ซึ่งเป็นแบบที่นิยมทำกันทั่วไปในศิลปะตะวันออก จิตรกรรมเหล่านี้มีโครงสี (Colour scheme) ของภาพเป็นสีแดงเสน (Vermilion) โดยการใช้น้ำหนักอ่อนแก่ของสี ของสีขาว สีดำ และทองช่วยให้ภาพเด่นชัดขึ้น ถึงแม้ว่าการใช้สีในยุคนี้มีสีมากขึ้น มีการใช้ทองปิดเพื่อให้ลวดลายเด่นชัดขึ้น ซึ่งเป็นความก้าวหน้าของจิตรกรรมในสมัยนี้แต่โครงสีทั้งหมดของภาพก็ยังคงเป็นลักษณะของสีเอกรงค์อยู่นอกจากรูปแบบและการใช้สีที่ก้าวหน้าขึ้นมากกว่าจิตรกรรมของสุโขทัย แต่สิ่งที่เขียนขึ้นยังคงจำกัดอยู่เพียง รูปพระพุทธรูป รูปพุทธสาวก รูป สัตว์ รูปคน และดอกไม้ ซึ่งจิตรกรเขียนขึ้นเพื่อเป็นการบูชาอุทิศถวาย และเชิดชูพระกิติคุณของพระบรมศาสดา
แม้ว่าในสมัยอยุธยาตอนต้นนี้ จะมีหลักฐานทางจิตรกรรมมากกว่าสมัยสุโขทัยก็ตาม แต่สีสันที่ใช้ไม่ต่างไปจากจิตรกรรมที่ฝาผนังวัดเจดีย์เจ็ดแถวมากนัก รูปแบบของจิตรกรรมดูจะแยกออกจากแบบอย่างของศิลปะอินเดีย และมีลักษณะเฉพาะที่เป็นของไทยมากขึ้น เช่น ลวดลายประดับของซุ้มเรือนแก้วในพระเจดีย์วัดมหาธาตุ และในองค์พระปรางค์ วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: