วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

จิตรกรรม




จิตรกรรมฝาผนังในล้านนา
ในดินแดนล้านนามีจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง จิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของล้านนา คือ จิตรกรรมที่ฝาห้องใต้เจดีย์วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีตของพระพุทธเจ้า เกี่ยวข้องกับศิลปะสุโขทัย อยุธยาตอนต้น
จิตรกรรมสำคัญต่อมามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 เป็นภาพเขียนบนแผ่นผ้าหรือ พระบฏสำหรับเคารพบูชา อยู่ในกรุเจดีย์ วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เขียนภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
จิตรกรรมเก่าแก่อีกชิ้นหนึ่งเขียนบนแผ่นไม้ที่วิหารน้ำแต้ม ในวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง เป็นนิทานชาดกพื้นบ้าน และประวัติของพระอินทร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22
หลังจากนั้น จิตรกรรมล้านนาก็ขาดช่วงไปกว่า 200 ปี จนถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 จึงมีจิตรกรรมอิทธิพลรัตนโกสินทร์ และตะวันตกเข้ามาปะปน แต่ก็ยังคงยึดแนวการแสดงออกแบบประเพณีท้องถิ่น ตัวอย่างจิตรกรรมล้านนาสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเขียนเรื่องชาดก 50 เรื่อง (ปัญญาสชาดก) ของล้านนา คือ ที่วิหารลายคำวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่วัดภูมินทร์ และวัดหนองบัว จังหวัดน่าน ส่วนที่วัดสบพลี จังหวัดลำปาง เขียนภาพประจำวัน สีที่ใช้ในจิตรกรรมรุ่นเก่าเป็นสีจากธรรมชาติ คือ สีฝุ่นผสมกาวยาง หรือไม้ หรือกาวหนังสัตว์
จิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างล้านนา สร้างขึ้นโดยเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมไทยล้านนาที่มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นของกลุ่มวัฒนธรรม การกินข้าวเหนียวซึ่งแตกต่างไปจากภาคกลางที่บริโภคข้าวเจ้ามากกว่า
การแต่งกายของชาวไทยล้านนา ผู้ชายจะเปลือยกายท่อนบน สักหมึกแดงเป็นรูปสัตว์ มีผ้าพันคอ ท่อนล่างนิยมสักหมึกสีดำ ตั้งแต่บั้นเอวลงมาจนถึงหน้าแข้งแล้วนุ่งเตี่ยวทับอีกชั้น (เป็นผ้าผืนยาว 2 เมตร กว้าง 10 เซนติเมตร) รวบเป็นแถบผ้า ชายพกไว้ที่เอว ด้านหน้า สอดชายผ้าที่เหลือลอดหว่างขาไปรวบสอดไว้ที่บั้นเอวด้านหลัง ไว้ผมทรงมหาดไทย เจาะหูสอดใส่ทองคำแผ่นที่ม้วนเป็นแท่งไว้ ส่วนผู้หญิง กายท่อนบนเปลือย บางทีมีผ้าพันอก นุ่งผ้าซิ่นกรอมเท้า ทั้งชายและหญิงเดินเท้าเปล่า
จิตรกรรมที่พบส่วนใหญ่เขียนไว้ในวิหารมากกว่าโบสถ์ และมักสร้างขึ้นไว้ในวัดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น: