วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ภาพจำลองการใช้สีแดงและเขียวตัดกันในจิตรกรรมวัดอุโมงค์ (ภาพจิตรกรรมภายในอุโมงค์ที่ 2)
สีสันในจิตรกรรม
ภาพจำลองจิตรกรรมวัดอุโมงค์อันเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการคัดลอกงานจิตรกรรม และการปฏิบัติงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังด้วยกระบวนการทางเคมีได้ทำให้เราเห็นจิตรกรมฝาผนังในสภาพเดิมก่อนการชำรุดเมื่อราว 500 ปีก่อนว่า ในด้านการใช้สีนั้น สีหลักที่ใช้ในงานก็คือ สีแดงสดหรือสีแดงชาด กับสีเขียวสด (สีเขียวสดดังกล่าวหากเทียบเคียงกับสีสมัยใหม่จะเทียบเคียงได้ใกล้เคียงกันมากกับสีเขียว Emerald Green ที่ผู้ทำงานศิลปะและการออกแบบคุ้นเคยกันดี) สีแดง และเขียวที่ปรากฏในจิตรกรรมนั้นเป็นการใช้คู่สีตรงกันข้ามตัดกันในสัดส่วน 80 : 20 หรือ 70 : 30 รูปแบบการใช้สีดังกล่าว หากกล่าวตามทฤษฎีสีแล้ว ก็เป็นการใช้สีที่ตรงตามทฤษฎีสีและการออกแบบในงานศิลปะที่พบแพร่หลายในงานศิลปะและการออกแบบทั้งในงานจิตรกรรม สิ่งพิมพ์ และสื่อดิจิตอล ในยุคปัจจุบันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทฤษฎีอยู่ส่วนหนึ่งที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในส่วนการใช้สีคู่ตรงกันข้ามในงานออกแบบว่า การออกแบบที่ดีในการใช้คู่สีตรงกันข้ามนั้นควรให้คู่สีตรงกันข้ามในวงจรสีธรรมชาติมีสัดส่วนส่วนสีที่ตัดกันในอัตราส่วน 80 : 20 หรือ 70 : 30 จะถือว่างดงามลงตัวที่สุด ดังนั้น รูปแบบดังกล่าวที่ได้ปรากฏ ในงานจิตรกรรมโบราณเช่นที่วัดอุโมงค์นี้จึงเป็นรูปแบบที่นำสมัยมาก น่าสังเกตด้วยว่าช่างล้านนาไทยโบราณได้รู้จักแนวคิดนี้ก่อนการเข้ามาของทฤษฎีสี และทฤษฎีองค์ประกอบศิลปะจากตะวันตกจะแพร่หลายสู่ประเทศไทยในอีกหลายร้อยปีต่อมา ข้อสังเกตการใช้สีดังกล่าวในงานจิตรกรรมวัดอุโมงค์นั้น ในเชิงปรัชญามีความสำคัญสูงมากเพราะเป็นการเปิดประเด็นนำไปสู่คำถามสำคัญว่า
● ทฤษฎีสีและทฤษฎีองค์ประกอบศิลปะปัจจุบันที่คนทำงานศิลปะและการออกแบบรู้จักและคุ้นเคยกันดีในปัจจุบันซึ่งล้วนเป็นการรู้จักผ่านตะวันตกทั้งสิ้นนั้น ฉะนั้นทฤษฎีดังกล่าวเป็นทฤษฎีที่มีความเป็นสากล(universal) ที่ไม่ขึ้นอยู่กับ กาละ(time) เทศะ(space) ใช่หรือไม่
● ทฤษฎีสีและทฤษฎีองค์ประกอบศิลปะเช่นนั้นเป็นความรู้ที่มนุษย์มีมาก่อนประสบการณ์(apriori) หรือว่าเป็นความรู้หลังประสบการณ์
ความเข้าใจที่มีต่อเรื่องเหล่านี้คือความจำเป็นพื้นฐานที่เป็นคำอธิบายว่าปรากฏการณ์ทางศิลปะที่วัดอุโมงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นไปอย่างไร ช่างไทยแต่โบราณรู้จักการใช้สีที่ตรงตามทฤษฎีตะวันตกเช่นนั้นได้อย่างไร โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์จึงฝากเป็นคำถามให้ได้ช่วยคิดกัน

ไม่มีความคิดเห็น: