วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

จิตรกรรม


ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระสิงห์ แม่แบบ:ล้านนาไทย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระสิงห์ ผนังวิหารลายคำวัดพระสิงห์มีภาพจิตรกรรมโดยรอบ โดยทิศเหนือเขียนเรื่องสังข์ทอง ทิศใต้เขียนเรื่องสุวรรณหงส์ ซึ่งภาพจิตรกรรมทั้ง 2 เรื่องนี้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมเรื่อง สังข์ทองนั้น พบได้ที่วิหารลายคำเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ภาพจิตรกรรมเรื่องสังข์ทองและสุวรรณหงส์มีตำนานว่า จิตรกรได้กั้นม่านเพื่อเขียนภาพแข่งขันกัน โดยจิตรกรจากกรุงเทพฯ วาดภาพเรื่องสุวรรณหงส์ และจิตรกรเชียงใหม่วาดภาพเรื่องสังข์ทอง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สรุปเกี่ยวกับเรื่องลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมที่พบในล้านนาไว้ว่า “จิตรกรรมในภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน...เป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้าเรามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่า เราเข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน” ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำเป็นภาพจิตรกรรมที่มีคุณค่า แสดงให้เห็นสภาพสังคม วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ และความคิดความอ่านของผู้คนในสมัยนั้น
ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทอง สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์สังคมล้านนา ในยุคที่กรุงเทพฯ เข้าครอบงำ และเจ้านายฝ่ายเหนือก็ไม่มีอำนาจอีกต่อไป ส่งผลถึงด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การปกครองได้เปลี่ยนไป จิตรกรผู้สร้างภาพจิตรกรรมจึงใส่ความรู้สึกนั้นๆ ลงในงานของตน เช่น ภาพของเหล่าขุนนางแต่งกายอย่างมีระเบียบแบบแผนแต่ไม่มีชีวิตชีวา ส่วนเจ้านายดูสง่างาม มีลักษณะเหมือนคนทั่วไปรวมถึงราชวังอันเป็นที่อยู่ของเจ้าก็ถูกสร้างขึ้นอย่างประณีตสวยงาม จากการวิเคราะห์ภาพจิตรกรรมของ สน สีมาตรัง กล่าวว่า จิตรกรเชียงใหม่ที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านทิศเหนือ ของวิหารลายคำ เป็นลักษณะการเขียนภาพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวช่าง ซึ่งบ่งบอกถึงความประทับใจของช่างแล้วแสดงออกในภาพ เป็นแบบอิสระตามความชอบและความถนัดของช่างเขียน มากกว่าจะเป็นแบบทำตามคำสั่งงานของนายช่างใหญ่หรือผู้ปกครอง
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ มีลักษณะการเขียนของช่างที่สวยงามประณีตมาก แสดงให้เห็นความชำนาญของช่างเขียนที่ได้ถ่ายทอดออกมา มีลักษณะการเขียนที่ผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและรัตนโกสินทร์ รวมกับลักษณะเฉพาะของปราสาทล้านนา และเรือนกาแล ที่นิยมสร้างกันสมัยนั้น ภาพคน คือ ตัวพระ ตัวนาง และภาพตัว กาก (ภาพสามัญชน) มีลักษณะการเขียนที่แสดงถึงลักษณะของคน ล้านนาในยุคนั้น เครื่องแต่งกายต่างๆ ก็บอกความเป็นคนล้านนา โดยจะสังเกตเห็นว่าเครื่องแต่งกาย ของข้าราชการในวังสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏอยู่ในภาพ นอกจากนี้ยังปรากฏลักษณะการแต่งกายของชนเผ่าต่างๆ ที่มีความใกล้ชิดกับชาวล้านนาสมัยนั้นด้วยรูปลักษณ์ของ หน้ากลม ตาสองชั้นเรียวยาว จมูกเรียวเล็ก ปากรูปกระจับ ทรงผมเกล้ามวยของผู้หญิง และทรงผมผู้ชายเป็นกระจุกอยู่กลางศีรษะที่เรียก กันว่า"ทรงมหาดไทย" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้คนชาวล้านนา ส่วนลักษณะการเขียน สถาปัตยกรรมประกอบภาพในเรื่องส่วนประกอบของไม้ใช้เป็นส่วนบน ปูนใช้ เป็นส่วนกลางและหลังคามุงกระเบื้อง ส่วนรั้วและกำแพง บางจุดเป็นไม้ บางจุดเป็นอิฐมีความละเอียดประณีตมาก ใช้ทองคำเปลว ช่วยให้เกิดความสวยงาม มีผ้าม่านเป็นฉากกั้นระหว่างห้อง เขียนลายผ้าม่านเป็นลวดลายดอกไม้สวยงามมาก
สีที่ใช้จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เป็นวรรณสีเย็น ซึ่งมีสีน้ำเงินครามและสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ นอกจาก นี้ก็มีสีแดง สีเขียว สีน้ำตาล สีดำ และสีทอง ซึ่งใช้เขียนส่วนที่เป็นโลหะปิดด้วยทองคำเปลวตัดด้วยสีแดงและดำ เช่น เชิงหลังคา และยอดปราสาท สิ่งของเครื่องใช้ เช่น อาวุธ เครื่องประดับ

ไม่มีความคิดเห็น: